History, Vision and Mission

History

STREC เป็นองค์กรที่มีฐานะเป็นศูนย์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย คณะผู้บริหารและคณะกรรมการบริหารจะคัดเลือกมาจากแต่ละคณะหรืออาจมาจากส่วนกลางหรือจากศูนย์ฯเองในส่วนของเจ้าหน้าที่ต่างๆในศูนย์ฯจะมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันหรือพนักงานของทางมหาวิทยาลัย

เมื่อเริ่มต้นนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เตรียมแผนการที่จะจัดตั้ง STREC โดยใช้รายได้จากทางมหาวิทยาลัยเอง อย่างไรก็ตามในช่วงนั้นสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยนั้นยังไม่สามารถสนับสนุนแผนงานได้เต็มที่ แม้ว่า STREC จะได้รับความเห็นชอบแล้วจากทบวงมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2523 อย่างไรก็ตามต่อมาทางมหาวิทยาลัยก็ได้รับเงินจากงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนเงิน 35.3 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างตึกศูนย์ฯ ประกอบด้วยอาคารสถาบัน 2 และ 3 ซึ่งเริ่มก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2524 และได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติงานของสถาบัน ในเวลาต่อมาการจัดหาเครื่องมือในการวิจัยได้ดำเนินงานอย่างรวดเร็วด้วยความช่วยเหลือด้านเงินทุน จำนวน 400 ล้านเยนจากทางรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อจัดหาเครื่องมือวิจัย พิธีทำหนังสือ สัญญาการให้ความช่วยเหลือได้มีขึ้นในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2524

อาคารสถาบัน 2

อาคารสถาบัน ๒ เป็นอาคารสูง ๖ ชั้น เป็นที่ตั้งของศูนย์เครื่องมือวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์

อาคารหลังนี้ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ผุสดี ทิพทัส ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาตุรนต์ วัฒนผาสุก รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย และสุกิจ ทรัพย์เพิ่มพูน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๔ แล้วเสร็จในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๒๕

อาคารสถาบัน ๒ ได้รับรางวัลเกียรติคุณ สถาปัตยกรรมดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ ประเภทอาคารทางการศึกษา

อาคารสถาบัน 3

อาคารสถาบัน ๓ เป็นอาคารสูง ๑๑ ชั้น ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารสถาบัน ๒ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓ ออกแบบโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์จาตุรนต์ วัฒนผาสุก ศาสตราจารย์ผุสดี ทิพทัส และรองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันอาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของ ศูนย์เครื่องมือวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และสถาบันวิจัยพลังงาน

ปัจจุบัน ศูนย์เครื่องมือวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ย้ายที่ทำการมายังอาคารอาคารสรรพศาสตร์วิจัย

Vision and Mission

วิสัยทัศน์

เป็นองค์กรที่มีเครื่องมือหลากหลายทันสมัย สำหรับบริการวิเคราะห์และทดสอบ ให้เป็นที่ยอมรับระดับมาตรฐานสากล

ภารกิจ

เนื่องด้วยนโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแผนพัฒนาระบบการศึกษาฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 – พ.ศ. 2524) เน้นหนักในการที่จะขยายการเรียนรู้ในระดับปริญญา ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก การที่จะขยายการเรียนการสอนและปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น สามารถกระทำได้โดยจัดเตรียมเครื่องมือวิจัยและอุปกรณ์ในการสอนการอบรมและวิจัยให้เพียงพอต่อความต้องการ ในระหว่างปีพ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2523 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีมติที่จะจัดตั้งศูนย์กลางการให้บริการในการวิเคราะห์ พัฒนาและสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ในการวิจัยต่างๆ ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ความรับผิดชอบโดยตรงจาก “ศูนย์เครื่องมือวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” หรือ “The Scientificand Technological Research Equipment Centre” มีคำย่อว่า “STREC” ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากทบวงมหาวิทยาลัยในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2523 STREC มีภารกิจหลักดังต่อไปนี้

  1. สนับสนุนการวิจัย ด้วยการให้บริการการวิเคราะห์ธาตุและสารประกอบต่างๆ ตรวจสอบและพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารต่างๆ รวมทั้งทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพ และเชิงกลของวัสดุด้วยเครื่องมือแก่งานวิจัยของคณาจารย์และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ รวมทั้งการพัฒนาและสร้างอุปกรณ์การวิจัยทั้งชิ้นงานกลและชิ้นงานอิเล็กทรอนิคส์ต่างๆ ซึ่งไม่อาจจัดหาซื้อได้ ในรูปของอุปกรณ์สำเร็จสำหรับการวิจัยเฉพาะเรื่อง
  2. สนับสนุนการเรียนการสอน ด้วยการให้บริการการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือต่างๆ และการสร้างอุปกรณ์การวิจัยให้แก่งานของนิสิตระดับปริญญาตรี ปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการทำโครงการวิจัย (Senior projects) อีกทั้งสาธิตการใช้เครื่องมือวิจัยต่างๆ ให้แก่นิสิตที่เรียนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือ ตามคำขอของอาจารย์ผู้สอน
  3. สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในการใช้เครื่องมือ ด้วยการสอนและฝึกอบรมอาจารย์ นักวิจัย นิสิตระดับต่างๆ ให้เข้าใจการใช้เครื่องมือวิจัยอย่างถูกต้อง เรียนรู้การทำงานของส่วนต่างๆ ของเครื่องมือ ตลอดจนการบำรุงรักษาเครื่องมือวิจัยตามวาระ
  4. สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในการพัฒนาและการซ่อมบำรุงเครื่องมือวิจัย ด้วยการสอนและจัดฝึกอบรมให้แก่อาจารย์ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเครื่องมือวิจัยต่างๆ ให้สามารถแก้ไข ดัดแปลง และพัฒนาอุปกรณ์เชื่อมโยง (Interface) เพื่อให้เครื่องมือวิจัยเหล่านั้นสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการซ่อมบำรุงเครื่องมือวิจัยต่างๆ เหล่านั้น
  5. สนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการประสานงานกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานภายในประเทศในการใช้ประโยชน์เครื่องมือวิจัยที่มีอยู่ถ่ายทอดประสบการณ์แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ตลอดจนข้อคิดเห็นรวมทั้งการเปรียบเทียบผลวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ
  6. สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ด้วยการให้บริการทางวิชาการแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในรูปแบบของการวิเคราะห์และทดสอบด้วยเครื่องมือฯ แก่ผลิตภัณฑ์และตัวอย่างประเภทต่างๆ เพื่อการควบคุมคุณภาพและปรับปรุงกระบวนการผลิต